สำนวน สุภาษิต คำพังเพย
สุภาษิต หมายถึง ถ้อยคำที่สั่งสอนหรือห้ามโดยตรง มีคำเปรียบเทียบบ้างไม่มีบ้าง เช่น คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ, อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา, น้ำเชี่ยว อย่าขวางเรือคำพังเพย หมายถึง ถ้อยคำที่แสดงความจริง ไม่ได้สอนโดยตรง อาจจะเป็นคำพังเพยแท้ก็ได้ เป็นสำนวนก็ได้ เป็นคำขวัญก็ได้ คำพังเพยแท้เช่น มีเงินเขานับว่าน้อง มีทองเขานับว่าพี่, ยากเงิน จนทอง พี่น้องไม่มี, มีเงินทอง พูดจาได้ มีไม้ไร่ ปลูกเรือนงาม, รู้แล้วพูดไปสองไพเบี้ย รู้แล้วนิ่งเสียตำลึงทอง
สำนวน มักเป็นคำเปรียบเทียบ คือให้นำความเป็นไปของสิ่งนั้นๆ มาเปรียบเทียบกับความประพฤติของคน เช่นคำว่า ขิงก็รา ข่าก็แรง, ปลาร้าเค็ม มะเขือขื่น, ตัวเท่าเสา เงาท่ากระท่อม, น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย
คำขวัญ มักเป็นคำปลอบขวัญหรือปลุกใจให้มุ่งมั่น เช่นคำว่า กรุงศรีอยุธยายังไม่สิ้นคนดี (หมายถึงเมืองไทยยังไม่สิ้นคนดี) ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ, ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม
คำพังเพยที่มีผู้นำมาแต่งเป็นสำนวนกลอนไว้ เป็นต้นว่า
- กินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง
- เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่
- นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น
- หน้าชื่นอกตรม ลับลมคมใน
- ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด
- มะพร้าวตื่นดก ยาจกตื่นมี
- ใจดีสู้เสือ ใกล้เกลือกินด่าง
- ไม่ฟังอย่าสอน ไม่วอนอย่าบอก
- คนนอนอย่าบอก คนปอกอย่าเชื่อ
- สู้จนยิบตา ชอบมาพากล
- จุดไต้ตำตอ ขุดบ่อล่อปลา
- กิ้งก่าได้ทอง กันดีกว่าแก้
- จูบลูกถูกแม่ มิตรจิตมิตรใจ
- ห่างลอดตัวเล็น ตีตนก่อนไข้
- ใครดีใครได้ ต้นร้ายปลายดี
- ตาบอดได้แว่น หัวล้านได้หวี
- จับนั่นจับนี่ เข้าพระเข้านาง
- อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน
- กินน้ำใต้ศอก ต้นข้าวคอยฝน
- หว่านพืชหวังผล ผิดหูผิดตา
- หน้าเนื้อใจเสือ ไปตายดาบหน้า
- เข้าเถื่อนลืมพร้า น้ำน้อยแพ้ไฟ
- ตกไร้ได้ยาก อดอยากปากแห้ง
- เคราะห์หามยามร้าย หวดซ้ายป่ายขวา
- ตัวสั่นงันงก ตีอกชกหัว เจ้าถ้อยร้อยความ
- ถ้วยชามรามไห เก็บหอมรอมริบ
- กำเริบเสิบสาน หอมหวนทวนลม
- ชื่นชมสมหมาย หิวโหยโรยแรง
- ฟักแฟงแตงกวา ภูเขาเลากา
- มืดหน้าตามัว ก่อร่างสร้างตัว
- ตกลงปลงใจ ป่าดงพงไพร อาศัยไหว้วาน
- เอื้อเฟื้อเจือจาน เจ้าขุนมูลนาย
- มืดหน้าตาลาย เหลือบ่ากว่าแรง
- ภาษิต หรือ สุภาษิตมีอยู่ทั่วไปในทุกชาติทุกภาษา และมักรู้กันแพร่หลาย มักเขียนเป็นร้อยกรอง เล่นสัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ เพิ่มความไพเราะและกำหนดจดจำง่ายยิ่งขึ้น เช่น
- กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ (ทำอะไรไม่ทันท่วงที)
- กินบนเรือนแล้วขี้รดหลังคม (เนรคุณ)
- กินปูนร้อนท้อง (ทำผิดแล้วมักออกตัว แสดงพิรุธ)
- เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน (ทำงานได้เงินเล็กๆ น้อยๆ ก็เอา)
- ขายผ้า เอาหน้ารอด (ยอมเสียทุกอย่างเพื่อรักษาชื่อเสียง)
- ขิงก็รา ข่าก็แรง (ต่างคนต่างแรง ไม่ยอมกัน เรื่องเล็กก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ไป เพราะทิฐิมานะ)
- ขี่ช้างจับตั๊กแตน (ทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ได้ผลไม่คุ้มกับที่ต้องเสียไป)
- เข้าตามตรอก ออกตามประตู (ทำอะไรให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี)
- เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า ได้หน้าอย่าลืมหลัง (อย่าประมาทต้องเตรียมให้พร้อม และให้มีสติกำหนดจดจำให้ดี)
- เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่งตาตาม (ประพฤติให้ถูกต้องตามกาลเทศะ เมื่อไปอยู่ในพวกเขาแล้ว ก็ต้องประพฤติคล้อยตามเขา)
- เขียนเสือให้วัวกลัว (ขู่ให้กลัว)
- คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ (คนดีไปที่ไหนก็มีคนอยากคบหาสมาคมด้วย ไม่ลำบาก)
- คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนกลับมาได้ (ความชัดแล้ว)
- คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ (คนที่รักเรามีน้อยคล้ายผืนหนัง คนชังมีมาก อย่างกับเสื่อลำแพน)
- คบคนให้ดูหน้า ซื้อผาให้ดูเนื้อ (ความชัดแล้ว)
- คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล (ความชัดแล้ว)
- คบคนดีมีศรีแก่ตัว คบคนชั่วอัปราชัย (อัปราชัย ในที่นี้มีความหายเท่ากับ ปราชัย คือจะพ่ายแพ้ หมายถึงไม่เป็นมงคลแก่ตัว)
- ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด (แม้จะมีความรู้สูงแค่ไหนก็ตาม ถ้าความประพฤติไม่ดีแล้วก็เอาตัวไม่รอด เพราะไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย หรือมีความรู้ แต่ไม่ใช้ความรู้ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร)
- ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก (ปัญหาเรื่องนี้ยังแก้ไขไม่ตกเลย ก็มีปัญหาใหม่แทรกเข้ามาอีกแล้ว)
- คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก (ที่อยู่อาศัย แม้จะคับแคบเพียงใด ถ้ารู้จักทำให้ดี ก็น่าอยู่ แต่ถ้าหากมีความคับอกคับใจแล้ว แม้ที่จะกว้างขวางใหญ่โต ก็มิได้ทำให้สบายอกสบายใจเลย มีแต่จะรู้สึกอึดอัดใจแต่ถ่ายเดียว)
- คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล (อย่าประมาททะเล แค่คืบแค่ศอกก็ทะเล ตกไปก็มีหวังจมน้ำตายทั้งนั้น)
- ฆ่าความก็ต้องไม่เสียดายพริก (ถ้าคิดจะทำงานใหญ่ทั้งที ก็ต้องไม่กลัวหมดเปลือง)
- ฆ่าช้างจะเอางา คนเจรจาจะเอาถ้อยคำ (ที่เขาฆ่าช้างก็เพราะเขาหวังจะเอางาซึ่งมีราคาแพง เมื่อคนเราเจรจากัน ถ้อยคำหรือคำพูดถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ควรจะเป็นคำพูดที่มีความจริงใจ เชื่อถือได้)
- วัวเป็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่นอน (หมายถึงคนที่เห็นแก่ได้ เห็นแก่กิน และเกียจคร้าน)
- งูเห็นนมไก่ ไก่เห็นตีนงู (ต่างคนต่างรู้ทันกัน รู้เล่ห์เหลี่ยมและกำพืดของกันและกันว่ามีเบื้องหลังอย่างไร)
- จำศีลเอาหน้า ภาวนาโกหก (แสร้งทำเป็นว่าถือศีลเคร่งครัด ชอบเจริญภาวนาเข้ากรรมฐาน ที่ลวงให้คนอื่นเข้าใจว่าตนเป็นมีศีลมีธรรม เขาจะได้เชื่อถือไว้วางใจ
- ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน (ชีวิตคนเราเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ เดี๋ยวรุ่งเรือง เดี๋ยวตกอับ ดังนั้นเมื่อถึงคราวตกอับ ก็อย่าเพิ่งท้อถอย หรือหมดอาลัยในชีวิต และเมื่อถึงคราวรุ่งเรือง มีอำนาจวาสนา ก็อย่าลืมตัว อย่าประมาท)
- ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ (ใครจะเป็นอะไรก็ช่าง ไม่ควรถือเอาเป็นธุระ)
- ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ (ลูกผู้ชายที่ชื่อว่าตนมีความเก่งกล้าสามารถ จะต้องสำแดงวิชาความรู้และความสามารถให้ลือชาปรากฏแก่คนทั่วไป ดุจเสือ (ลายพาดกลอน) ก็ต้องมีลายฉะนั้น)
- ช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงาม ด่วนได้สามผลามมักพลิกแพลง (จะทำอะไรก็ทำอย่างมีสติ รอบคอบ แม้จะช้าไปบ้างก็ได้ผลดี แต่ถ้าทำอย่างรีบร้อน ไม่พินิจพิเคราะห์ให้ดีก่อน อาจผิดพลาดเสียหายได้ง่าย)
- ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวปิด (ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ใบบัวมีขนาดเล็ก ถ้าเอาใบบัวใบเดียวไปปิดช้าง ย่อมปิดไม่มิด คนที่ทำความชั่วไว้มากมาย ถึงจะปิดอย่างไรๆ ก็ปิดไม่หมด คนย่อมรู้เข้าจนได้)
- ช้างสาร งูเห่า ข้าเก่า เมียรัก อย่าได้ไว้วางใจ (ช้างสารและงูเห่า เป็นสัตว์เดรัจฉานไว้ใจไม่ได้ ข้าเก่าและเมียรัก เป็นบุคคลที่ใกล้ชิด ย่อมรู้เรื่องราวและความลับของเราหมด บุคคลประเภทนี้ ถ้ากลับกลายเป็นศัตรูแล้วจะเป็นศัตรูที่ร้ายที่สุด ดังนั้นจึงไม่ควรไว้วางใจจนเกินไป)
- ใช้แมวไปขอปลาย่าง (แมวก็กินปลาย่างหมด เพราะตามปรกติแมวก็ชอบกินปลา)
- ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ถ้าจะดูให้แน่ต้องดูถึงย่าถึงยาย (วัวที่มีลักษณะดีนั้นให้ดูที่หาง ถ้าปลายหางเป็นพู่เหมือนใบโพธิ์ ก็นับว่าเป็นวัวที่มีลักษณะดีมาก การที่จะเลือกผู้หญิงมาเป็นคู่ครอง ไม่ใช่ดูเพียงตัวผู้หญิงเท่านั้น ต้องดูไปจนถึงแม่ด้วยว่าเป็นคนดีหรือไม่ เพราะลูกกับแม่ก็มักจะมีลักษณะนิสัยคล้ายคลึงกัน และถ้าจะดูให้แน่จริงๆ ต้องสืบประวัติไปจนถึงย่ายายของหญิงนั้นด้วย)
- ดูช้างให้ดูหน้าหนาว ดูสาวให้ดูหน้าร้อน (หน้าหนาวช้างจะตกมัน ตอนนี้แหละเราจะเห็นลักษณะท่าทางของช้างว่ามีความห้าวหาญดุดันอย่างไร หน้าร้อนอากาศอ้าว ผู้หญิงก็ใช้ผ้าน้อยชิ้น หรือผ้าบางๆ ทำให้มองเห็นรูปร่างทรวดทรงและผิวพรรณของผู้หญิงว่าสวยงามแค่ไหนเพียงใด)
- ตบมือข้างเดียวไม่ดัง (ทำอะไรฝ่ายเดียวไม่เกิดผล)
- ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก (ต่อหน้าทำอย่างหนึ่ง ลับหลังทำอีกอย่างหนึ่ง แบบหน้าไหว้ หลังหลอก)
- ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา (ให้รู้จักเจียมเนื้อเจียมตัวไว้บ้าง)
- ตักบาตรไม่ต้องถามพระ (จะให้อะไรแก่ใคร เมื่อทราบว่าเขาเต็มใจรับอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องถามว่าจะเอาไหม)
- ถ้าไม่ไฟ ที่ไหนจะมีควัน (เมื่อมีผลออกมา มันต้องมีเหตุแน่ๆ )
- ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น (ทำอะไรดูเหมือนจะละเอียดถี่ถ้วนดี แต่ความจริงแล้วไม่รอบคอบ หรือบางทีก็ดูเหมือนจะใช้สอยอย่างกระเหม็ดกระแหม่ในบางเรื่องแต่อีกเรื่องหนึ่งกับสุรุ่ยสุร่าย)
- นอนสูงให้นอนคว่ำ นอนต่ำให้นอนหงาย (เมื่อนอนในที่สูง ถ้านอนคว่ำ อะไรผ่านไปผ่านมาข้างล่างก็มองเห็นหมด และเมื่อนอนในที่ต่ำ ถ้านอนหงาย อะไรผ่านไปผ่านมาข้างบนก็มองเห็นหมด ถ้านอนต่ำแล้วนอนคว่ำหน้าจะจดพื้น มองไม่เห็นอะไร)
- น้ำขึ้นให้รีบตัก (เมื่อเวลามีบุญมีวาสนา อย่างจะทำความดีอะไรก็รับทำๆ เสีย)
- น้ำเชี่ยว อย่าขวางเรือ (เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้น ก็อย่าไปขัดขวาง จะได้รับอันตราย เพราะตอนนี้ตนอยู่ในระยะหน้าสิ่งหน้าขวาน คนเรามักไม่มีเหตุผลดุจนน้ำเชี่ยว ถ้าเอาเรือไปขวาง เรือก็จะล่ม)
- น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า (ทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกัน ต้องเห็นอกเห็นใจกัน จึงควรผูกไมตรีกันไว้)
- น้ำลง ตอผุด (ความชั่วเมื่อทำไว้ในเวลาที่ตนมีอำนาจนั้น อาจไม่มีใครทราบ แต่เมื่อหมดบุญ หมดอำนาจ บรรดาความชั่วที่ปิดบังกันไว้นั้น ก็จะปรากฏออกมา)
- น้ำลึกหยั่งได้ น้ำใจหยั่งยาก (น้ำลึกเป็นเรื่องรูปธรรม เราหาวัตถุมาวัดได้ แต่น้ำใจเป็นเรื่องนามธรรม ไม่มีเครื่องวัด)
- นายว่า ขี้ข้าพลอย (ลักษณะของคนเลว ไร้ความรู้ ถ้าเจ้านายว่าอย่างไร ก็มักจะพลอยประสมโรงซ้ำเติมด้วย)
- เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ (ทั้งๆ ที่ตนไม่มีส่วนได้เป็นผลประโยชน์กับเขาเลย แต่ก็พลอยเข้าไปพัวพันในเรื่องร้าย ทำให้ต้องพลอยรับบาปรับเคราะห์เสียหายไปกับเขาด้วย)
- บุญมา ปัญญาช่วย ที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก (ในเวลาที่มีบุญวาสนา สติปัญญาก็ปลอดโปร่ง กำลังใจดี แม้จะเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะหายวันหายคืน เพราะเขาหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากผู้มีวาสนานั้น และจะมีภาษิตต่อท้ายอีกว่า “บุญไม่มา ปัญญาไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักก็หน่าย” ซึ่งมีนัยตรงข้ามกัน)
- ปล่อยเสือเข้าป่า ปล่อยปลาลงน้ำ (ปล่อยศัตรูสำคัญหรือโจรผู้ร้าย ที่ตกอยู่ในอำนาจให้พ้นไปนั้น จะทำให้เขากลับมีกำลังและอาจกลับเข้ามาก่อความเดือดร้อนได้อีก)
- ปลาข้องเดียวกัน ตัวหนึ่งเน่า ก็พาตัวอื่นพลอยเหม็นไปด้วย (คนที่อยู่ร่วมกัน ถ้าคนหนึ่งไปทำชั่ว ทำไม่ดีไว้ ก็จะพลอยทำให้คนอื่นเสียหายไปด้วย)
- ปลาหมอตายเพราะปาก (คนที่ชอบพูดอะไรพล่อยๆ มักจะได้รับอันตรายเพราะปากที่พูดพล่อยๆ นั้น)
- ปากคนยาวกว่าปากกา (ตามปรกติปากของอีกายาวกว่าปากคน แต่ปากคนนั้นพูดเล่าลือต่อปากกันไปได้ไกล ผิดกับกาแม้ปากจะยาว แต่ก็ต่อปากต่อคำอย่างคนไม่ได้)
- ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา (สมัยก่อนการศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านยังไม่แพร่หลาย คนที่รู้หนังสือมีน้อย บางคนก็ได้ดีเพราะปาก การคิดเลขหรือการคำนวณนั้นมีความสำคัญน้อยลงมาอีก แม้เดี๋ยวนี้คนที่มีความรู้ดีแต่พูดไม่เก่ง ก็เอาดีได้ยาก ส่วนความชั่วความดีนี้ ทำลงไปแล้วย่อมเป็นเสมือนตราที่ประทับลงไปให้รู้ว่าคนนั้นเป็นคนดี หรือคนชั่ว)
- ปลูกเรือนต้องตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ต้องตามใจผู้นอน (จะทำอะไรก็ต้องตามใจผู้ที่จะได้รับผล เหมือนปลูกเรือนต้องปลูกตามที่ผู้อยู่ต้องการ ไม่ใช่ตามที่ช่างต้องการ เพราะช่างหรือสถาปนิกไม่ใช้ผู้อาศัย ผูกอู่ก็คือผูกเปล ก็ต้องให้ถูกใจผู้นอน)
- พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง (ถ้าพูดไป ไม่มีประโยชน์ละก็นิ่งเสียดีกว่า สองไพเบี้ย =
( สตางค์ 1 ตำลึง = 4 บาท) - มีเงินเขานับว่าเป็นน้อง มีทองเขานับว่าเป็นพี่ (เมื่อมั่งมีเงินมีทองแล้ว ใครๆ ก็ประจบอยากเข้ามาเป็นญาติพี่น้องด้วย)
- มีเงินมีทองเจรจาได้ มีไม้มีไร่ปลูกเรือนงาม (ถ้ามีเงินมีทองแล้วจะพูดอะไรก็มักจะสำเร็จ ถ้ามีไม้มีที่แล้ว ก็ย่อมปลูกเรือนได้สวยงาม)
- ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ (ถ้าไม่มีอะไรเป็นเค้ามูลอยู่ ก็ย่อมไม่มีเรื่องเกิดขึ้น)
- ไม่เห็นน้ำ อย่าเพิ่งตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอก อย่าเพิ่งโก่งหน้าไม้ (อย่าด่วนทำอะไรล่วงหน้า โดยที่ยังไม่ทราบว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในภายหน้า จะเหนื่อยเปล่า)
- ไม้ล้มข้ามได้ คนล้มอย่าเพิ่งข้าม (ไม้ล้มข้ามไปไม่มีอันตรายอะไร แต่คนที่เคยมีอำนาจวาสนา แล้วหมดอำนาจ อย่าไปซ้ำเติมเขา เพราะเขาอาจกลับมามีอำนาจอีกได้)
- ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก (จะอบรมสั่งสอนอะไรก็ทำเสียตั้งแต่เด็ก เพราะอบรมสั่งสอนง่าย จะสอนให้เป็นอะไรก็ได้ ส่วนคนแก่นั้นสอนยาก เหมือนไม้แก่ถ้าดัดก็หัก ผิดกับไม้อ่อนซึ่งดัดง่ายไม่หัก)
- ไม้ลำเดียวยังต่างปล้อง พี่กับน้องยังต่างใจ (คือคนเรา นานาจิตตัง มีความเห็นไม่เหมือนกัน เหมือนไม้ไผ่ลำเดียวกัน ก็มีหลายปล้อง แต่ละปล่องก็ยาวไม่เท่ากัน พี่น้องแม้ท้องเดียวกัน แต่ความคิดเห็นก็ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน)
- รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี (วัวถ้าไม่ผูกไว้ ก็อาจหายได้ ถ้าลูกดื้อ พ่อแม่ก็ต้องดุต้องตีบ้าง แต่การที่พ่อแม่ตีไม่ใช่ตีด้วยความเกลียดชัง เพราะพ่อแม่ที่ตีนั้นก็ไม่อยากตี บางทีตีแล้วแอบไปร้องไห้ สงสารลูกก็มี แต่ถ้าไม่ตีเสียบ้าง ต่อไปถ้าลูกกลายเป็นคนชั่วช้าเลวทราม พ่อแม่จะต้องเสียน้ำตามากกว่านั้น)
- รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ (ถ้ารักจะมีชีวิตยืดยาวอย่างสงบสุข ก็ต้องตัดความเห็นแก่ตัว การอาฆาตจองเวรลง แต่ถ้าอยากจะมีชีวิตสั้นก็ต้องผูกอาฆาตจองเวรกันต่อไป อย่างนี้อาจตายเร็ว)
- รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม (การศึกษาหาความรู้ไว้ ยิ่งมากยิ่งดี เพราะการมีความรู้มาก ไม่เหมือนการแบกข้าวแบกของ ซึ่งจะรู้สึกว่าหนักบ่า มีความรู้มิได้หนักบ่าหนักแรงอะไร ความรู้ที่เวลานี้เราคิดว่าไม่มีประโยชน์ วันหน้าอาจเห็นคุณค่าของมันก็ได้)
- รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง (เมื่อรู้ว่าจะมีภัยอันตรายอะไรก็รู้จักหลบหลีก หรือเมื่อรู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความชั่ว ก็ควรหลักหนีให้พ้น)
- เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหน (เมื่อจะต้องสูญเสียอะไรไปอย่างไม่มีทางที่จะสูญเปล่า ก็ไม่ต้องวิตกทุกข์ร้อนอะไร)
- เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่ (ทำอะไรต่ออะไรดีมาตลอด แต่พอเสร็จกลับไม่ได้ผลอะไร หรือมาล้มเหลงเมื่อปลายมือ)
- ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ (เมื่ออะไรๆ ต้องอาศัยเขา ก็ต้องตามใจเขา ถ้าไปขัดใจเขา เขาอาจไม่ช่วยเราหรือไล่เราออกก็ได้)
- ลมไม่พัด ใบไม้ไม่ไหว (ไม่มีอะไรเป็นเค้ามูลมาก่อนแล้ว ก็คงไม่มีเรื่องมีราวเกิดขึ้นเป็นแน่)
- เล่นกับหมา หมาเลียปาก เล่นกับสาก สากต่อยหัว (ถ้าลดตัวไปเล่นหัวกับคนชั้นต่ำกว่า เขาก็อาจตีเสมอทำลวนลามเอา สากในที่นี้หมายถึงสากตำข้าวที่เขาพิงไว้ ถ้าใครซุกซนไปจับต้องเข้า สากอาจเลื่อนล้มทับถูกหัวถูกหูก็ได้)
- เลี้ยงช้าง กินขี้ช้าง (หาเศษหาเลยหรือมีผลประโยชน์พลอยได้จากหน้าที่ที่ตนทำเปรียบเหมือนคนเลี้ยงช้าง ซึ่งช้างก็มีค่าหญ้าอันเป็นส่วนของช้าง คนเลี้ยงช้างอาจเบียดบังเอาส่วนหนึ่งของค่าหญ้าเป็นผลประโยชน์ของตัว)
- เลือกนักมักได้แร่ (เลือกไปเลือกมา ในที่สุดมักจะไปได้ที่ไม่ดี มักใช้ในกรณีเลือกคู่ เลือกไปเลือกมาในที่สุดไปได้คนที่ไม่ดีมาเป็นคู่ครอง แร่ในที่นี้หมายถึงขี้แร่ หรือแร่เลวๆ ที่ไม่มีค่าอะไรกัน)
- โลภมาก ลาภหาย (โลภมากเกินไป ในที่สุดจะไม่ได้อะไรเลย ท่าสอนให้รู้จักมีความพอประมาณไว้บ้าง)
- วัวใครก็เข้าคอกคนนั้น (ส่วนของใครก็เป็นของคนนั้น ไม่ก้าวก่ายหรือก้ำเกินในผลประโยชน์ของกันและกัน)
- วัวสันหลังขาด เห็นกาบินผาดก็ตกใจ (คนที่มีความผิดติดตัว มักจะมีพิรุธ มีอาการหวาดระแวงอยู่เสมอ กลัวคนอื่นจะรู้ เหมือนวัวสันหลังหวะเป็นแผล พอเห็นกาบินมาก็หวาดกลัว เกรงว่ากาจะโฉบลงมาจิกที่แผลนั้น บางทีก็พูดว่า “วัวสันหลังหวะ”)
- วัวหายแล้วจึงล้อมคอก (เมื่อเกิดเสียหายขึ้นมาแล้วจึงหาทางป้องกันในภายหลัง ซึ่งนับว่าไม่ทันการณ์ ควรจะล้อมคอกเสียก่อนที่วัวจะหาย)
- ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง (พูดว่าคนอื่นอย่างไร ตนเองก็กลับเป็นอย่างนั้นเสียเองเหมือนอิเหนาที่ปรารภว่าไม่รักไม่ต้องการบุษบา แต่ตัวเองกลับลักพาบุษบาไป)
- สอนเด็ก สอนง่าย สอนผู้ใหญ่ สอนยาก (ความหมายอย่างเดียวกับ “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม่แก่ดัดยาก)
- สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง (คนเราแม้จะมีความรู้สูงอย่างนักปราชญ์ ก็อาจผิดพลาดได้เหมือนกัน ทุกคนจึงไม่ควรประมาท แม้สัตว์สี่เท้าเช่น วัวควายซึ่งมีสี่เท้าก็ยังอาจก้าวพลาดถึงล้มลงได้ ภาษิตนี้บางทีก็มีพูดต่อไปอีกว่า “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง สองตีนโด่เด่ คงจะเซลงบ้าง”)
- เสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักจนตาย (ผู้หญิงที่จะผูกมัดจิตใจสามีได้ ไม่ใช่เพียงเพราะความสวยอย่างเดียว เพราะความสวยงามเป็นของไม่จีรังยั่งยืนอะไร แต่ความดีโดยเฉพาะฝีมือในการปรุงอาหาร ถ้าหากสามารถทำให้ถูกปากสามีได้ ย่อมผูกใจสามีให้รักไปจนตาย)
- เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร (เดิมเราถือกันว่า ผู้หญิงที่เป็นแม่ร้างเพราะสามีหนีไปนั้น แสดงว่าผู้หญิงผู้นั้นต้องมีอะไรบกพร่องเลวร้าย สังคมมักคิดว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงไม่ยอมเสียสามีให้แก่หญิงใด เพราะเท่ากับเสียศักดิ์ศรีของตน แต่ในปัจจุบันอาจได้ยินบางคนพูดว่า “ถ้าได้ทองเท่าหัว ใครอยากได้ผัวก็เอกไป” แสดงว่าคนเดี๋ยวนี้เห็นแก่เงินมากขึ้น)
- เสียน้อย เสียยาก เสียมาก เสียง่าย (เวลาจะต้องเสียงเพียงเล็กน้อย ไม่อยากจะเสีย แต่พอถึงคราวต้องเสียมากๆ รับควักเงินให้ทันที อย่างข้าวของที่ชำรุดไปเล็กน้อย แทนที่จะรีบซ่อมแซมเสีย กลับปล่อยให้เสียมาก แล้วจึงซ่อมแซม ซึ่งต้องหมดเงินมากกว่าหลายเท่า)
- หญิงสามผัว ชายสามโบสถ์ อย่าได้คบ (แสดงว่ามีจิตใจรวนเร คบเป็นเพื่อนตายไม่ได้ เพราะเมื่อถึงคราวคับขัน อาจปลีกตัวหนีเอาตัวรอดไปตามลำพังได้)
- หมาขี้ไม่มีใครยกหาง (หมายถึงคนที่ชอบยกย่องตัวเอง)
- หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว (การทำอะไรเพื่อประชดประชัน ไม่ได้ประโยชน์อะไร ผลเสียจะตกแก่ตน ส่วนผลดีจะไปได้แก่คนที่เราประชดให้)
- ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว (ทำทุกข์ให้แก่ผู้ใด เคราะห์กรรมที่ทำกับเขา อาจตกตามมาถึงตัวเองบ้าง อย่างบางคนชอบล่าสัตว์ บางทีไปยิงลูกของตน โดยเข้าใจว่าเป็นสัตว์ป่าก็มี)
- อดเปรี้ยวไว้กินหวาน (ให้มีความอดทน อดใจรอผลข้างหน้าที่จะดีกว่า คือละทิ้งสิ่งที่ไม่ดี เพราะอดใจรอเอาสิ่งที่ดีกว่า)
- อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นความให้ลูกท่านเล่น (เมื่ออยู่บ้านใคร อย่าอยู่เปล่า ควรทำการทำงานช่วยเหลือเขาเท่าที่จะทำได้ แม้เพียงเอาดินเหนียวมาปั้นวัวปั้นควายให้ลูกเจ้าของบ้านเล่นก็ยังดี เขาจะได้เมตตาสงสาร)
- อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน (อย่าหาเรื่องใส่ตัว การพูดหรือทำอะไรก้าวก่ายไปถึงผู้อื่นโดยมิบังควร ย่อมทำให้ตนได้รับความเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น)
- อย่าข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า (อย่าบังคับขืนใจผู้อื่นให้ทำตามใจตน)
- อย่าคบคนจร นอนหมอนหมิ่น (อย่าคบคนจร ที่เราไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้าหรือไม่รู้จักประวัติเสียก่อน)
- อย่าชักน้ำเข้าลึก อย่าชักศึกเข้าบ้าน (บางทีก็พูดว่า “อย่าชักเรือเข้าลึก” หมายความว่า อย่าทำอะไรที่เป็นเหตุให้อันตรายมาถึงตัว)
- อย่าชิงสุกก่อนห่าม (ตามปรกติผลไม้ เช่นมะม่วงก่อนจะสุก จะต้องห่ามเสียก่อน การกระทำอะไรต้องให้เป็นไปตามจังหวะขั้นตอนของมัน ถ้าทำผิดลำดับอาจเสียหาย เหมือนผลไม้ที่ยังไม่แก่ เอามาบ่มแม้จะสุก แต่ก็จะเข้าทำนองหัวหวานก้นเปรี้ยว หรือยังเรียนหนังสือไม่จบ ยังหาเงินไม่ได้ ริมีลูกมีเมียเสียก่อน ตัวเองก็จะเดือดร้อนลูกเมียก็จะพลอยเดือดร้อนไปด้วย)
- อย่าชี้โพรงให้กระรอก (คืออย่าไปสอนผู้รู้ เพราะเขารู้อยู่แล้ว เหมือนกับกระรอกมันย่อมรู้จักโพรงของมัน ไม่ต้องไปชี้บอกกับมันดอก)
- อย่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ (อย่าทำอะไรที่ต้องเสียทรัพย์โดยไม่ได้ประโยชน์คุ้มกับเงินทองที่ต้องเสียไป เหมือนตำน้ำพริกเพียงครกหนึ่งแล้วเอาไปละลายในแม่น้ำ ซึ่งมีน้ำมาก จะทำให้น้ำในแม่น้ำกลายเป็นน้ำพริกอย่างในหม้อแกงไม่ได้)
- อย่าติเรือทั้งโกลน (เรือสมัยโบราณซึ่งเอาซุงทั้งต้นมาขุด เช่น เรือมาดที่เขาทำเป็นรูปร่างแล้วแต่ยังไม่แล้วเสร็จ อย่างเพิ่งไปด่วนติ)
- อย่าทำตัวเป็นกิ้งก่าได้ทอง (อย่าเย่อหยิ่งจองหองเพราะเพียงได้ดีหรือมีทรัพย์ขึ้นมาเพียงเล็กน้อย)
- อย่าทำเป็นหมาเห่าใบตองแห้ง (อย่าทำพูดอวดเก่ง หรือเก่งแต่ปาก)
- อย่าฝากเนื้อไว้กับเสือ (อย่าฝากสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้กับผู้ที่ชอบสิ่งนั้นเพราะตนจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป)
- อย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ (อย่ารื้อเอาเรื่องเก่าๆ ที่ล่วงเลยไปแล้วขึ้นมาพูดให้สะเทือนใจกัน ฝอย ในที่นี้หมายถึง มูลฝอย กุมฝอย ตะเข็บ คล้ายตะขาบ แต่ตัวเล็กกว่ามาก ชอบอยู่ตามกุมฝอย)
- อย่าละเลงขนมเบื้องด้วยปาก (อย่าเป็นคนดีแต่พูด คือพูดได้ แต่ทำไม่ได้)
- อย่าเลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ (อย่าเอาลูกโจรหรือลูกคนชั่วคนเลวมาเลี้ยง เพราะอาจสร้างความลำบากเดือดร้อนให้แก่ผู้เลี้ยงก็ได้)
- อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง (ความชัดอยู่ในตัวแล้ว)
- อย่าสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ (ความอย่างเดียวกับ “อย่าชี้โพรงให้กระรอก”)
- อย่าสอนหนังสือสังฆราช (ความอย่างเดียวกับ “อย่าชี้โพรงให้กระรอก”)
- อย่าหักด้ามพร้าด้วยเขา (อย่าใช้อำนาจบังคับอย่างหักโหมรุนแรง เพื่อให้ผู้อื่นทำตามความประสงค์ของตน เพราะนอกจากจะไม่สำเร็จแล้ว ตัวเองก็อาจเดือดร้อน)
- อย่าเห็นขี้ดีกว่าไส้ (อย่าเห็นผู้อื่นดีกว่าญาติพี่น้องลูกหลานของตน)
- อย่าเอาจมูกคนอื่นหายใจ (ต้องรู้จักช่วยตัวเอง อย่าคิดแต่จะพึงพาอาศัยคนอื่นเสมอไป ถ้าเราทำอะไรได้เองก็สะดวก แต่ถ้าต้องคอยอาศัยคนอื่นเขาร่ำไป ย่อมไม่ได้รับความสะดวก เหมือนคนมีรถยนต์แล้วขับไม่เป็น จะไปไหนทีก็ต้องพึ่งคนขับอยู่เรื่อย ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ไปไม่ได้)
- อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ (พิมเสนเป็นของมีค่างมากกว่าเกลือ คืออย่าลดตัวลงไปสู้กับคนชั่วต่ำ มีแต่เสียศักดิ์ศรี เพราะไม่คู่ควรกัน)
- อย่าเอาทองไปลู่กระเบื้อง (ความอย่างเดียวกับ “อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ”)
- อย่าเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน (จะไม่ได้ประโยชน์อะไร เขาจะหัวเราะเยาะได้ เพราะในสวนเขาก็มีมะพร้าวอยู่แล้ว หมายความว่า อย่าเอาสิ่งของหรืออะไรก็ตามแสดงต่อผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในสิ่งนั้นเป็นที่ลือชาปรากฏอยู่แล้ว เพราะจะทำให้ดูเหมือนว่าตนเป็นคนโง่เขลา เบาปัญญา หรือเซ่อเซอะอะไรทำนองนั้น)
- อย่าเอาลูกเขามาเลี้ยว อย่าเอาเมี่ยงเขามาอม (อย่าเอาของคนอื่นมาชื่นชมยินดี)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น